วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องสั้นจากการทำงาน

เรื่อง อิสรภาพที่แสนเลือนลาง โดย นส.รัตติญา คงมาก ผอ.รพ.สต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ชีวิตที่เกิดมาของแต่ละคนไม่สามารถเลือกเกิดได้ นิราชินี ก็คืออีกคนหนึ่งที่ชีวิตที่เกิดมาโดยที่แม้กระทั่งตัวของเธอเองก็ยังไม่รู้ว่าวันหน้าข้างจะเป็นอย่างไร นี่คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำงานมี่เป็นมากกว่างานที่ต้องทำตามหน้าที่ในบทบาทของ ผอ.รพ.สต.หน้าใหม่กับพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของตนเอง หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานกับพื้นที่ใหม่ กับบทบาทใหม่จากเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากพี่ เป็นพี่ที่ต้องดูแลน้องๆ เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2553 กับการขับรถไปฉีดยาที่บ้านผู้ป่วยวัณโรคซึ่งเป็นทางผ่านกลับบ้านดังเช่นทุกวัน สังเกตเห็นมีหญิงสาวร่างเล็กซึ่งดูผิวเผินเหมือนผู้ชาย ซึ่งนั่งอยู่หน้าบ้านหลังถัดไปสัก 2 – 3 หลัง นึกในใจ “ เอ๊ะ! แปลกจังทำไมฝนตกแล้วยังไม่เข้าบ้านนะ” เลยตัดสินใจเดินไปทักทาย เข้าไปใกล้ แหม! ตั้งใจส่งยิ้มไปแต่ไกลก็ไม่เห็นสัญญาณตอบรับ นึกอีกที “ หรือสัญญาณขัดข้อง Network ล่มอะไรประมาณนั้น ” ยิ่งเดินไปใกล้ได้ยินเสียงคนร้องห้าม “บอมอๆนาตีดูลู ยอบอดอ เตาะแปแฮ” เป็นเสียงร้องห้ามภาษาถิ่นคือ “หมอๆคอยก่อน เขาปัญญาอ่อน ไม่เข้าใจหรอก” ที่น่าสลดและหดหู่ก็คือ มีโซ่ขนาดเท่ากับหัวแม่มือของผู้ชายคาดอยู่ที่เอวของเธอ และเธอผู้นี้คือ นิราชินี เป็นผู้พิการซ้ำซ้อนทางด้านสติปัญญา ร่างกายและผู้ป่วยจิตเวช อาศัยอยู่กับแม่ที่แก่มากแล้วที่ต้องรับภาระดูแลเธอมาเกือบทั้งชีวิตและอีกเวลาที่เหลือในชีวิตของหญิงชรา ตลอดเวลาของชีวิต 35 ปีที่ผ่านมาเธอใช้ชีวิตอย่างไร ชีวิตเป็นสิ่งที่หลายๆคนให้เป็นในสิ่งที่อยากให้เป็นได้ แต่ยังมีอีกกี่ชีวิตในพื้นที่เรานะที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้บ้างในบทบาทของนักจัดการสุขภาพ เรียกให้โก้แทนคำว่าหมออนามัย หลังจากวันนั้นประเด็นนิราชินีก็ค้างคาใจอยู่ วันหนึ่งพี่สาวคนเก่งนักจัดการสุขภาพตัวยงแบบหาที่จับอยาก ก็คุณปาริชาติ แก้วทองประคำ นี่แหละเป็นคนจุดประกายสานฝันที่ขาดๆเกินให้ลุล่วงไปได้ เริ่มจากการสำรวจข้อมูลและหาข้อตกลงในการจัดกลุ่มของบุคคลในพื้นที่ตำบลลิปะสะโงที่เข้าข่ายต้องได้รับการดูแลจากสังคมและภาคีเครือข่ายกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการจุดประเด็นแก่ท่านนายกฉัตรชัย เจะปอ สุดหล่อของเรา ชมไว้ก่อนเพื่องานราบรื่นจร้า และท่านปลัดอบต.สุดสวย และเป็นพี่สาวที่น่ารัก ทำอย่างไรดีที่จะให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง เลยเป็นที่มาของพันธมิตรภาคีเครือข่าย โดยมีเจ้าของเรื่องเช่นเราคือ รพ.สต.เป็นจ้าวภาพในการขับเคลื่อนและแรงผลักดันแบบสุดแรงเกิด ถ้าใครที่เคยออกแรงเข็นรถยนต์ที่หมดแบตเตอรี่อะไรประมาณนั้น สุดฤทธิ์จร้า หลังจากการคืนข้อมูลและภาคีเครือข่ายเห็นชอบทำให้ได้มาซึ่ง 46 คนที่เป็นเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยเรื้อรังที่มีโรคซ้อนที่เราต้องให้การดูแลโดยกระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึงปัญหากับการทำอย่างไรเพื่อให้เขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือมีความสุขตามอัตภาพของแต่ละบุคคล เมื่อเป้านิ่ง คนพร้อม ก็ลุยกันไปได้เลย ไปด้วยกันแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ ใครบ้างเอ่ย นายกอบต.เดินนำหน้า ปลัดกับหมออนามัยเดินตามหลัง และทีมภาคีเครือข่าย อสม. สมาชิกอบต. กศนและอีกมากมายที่มีใจในการทำงาน เพราะตำบลลิปะสะโงเป็นที่เข้าใจกันว่ามีความพร้อมในด้านภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาชนไม่เป็นสองรองใคร เยี่ยมเยียนกันทุกหลัง บันไดพังก็ขึ้นไม่ห่วงว่าจะตก ตระเวนไปทั้งตำบล ครบทุกหลังตามประสาคนหาเรื่อง จนมาถึงบ้านเลขที 50/1 ม.4 บ้านท่ากูโบ ที่เจ้าของเรื่องที่จุดประเด็นให้เกิดสิ่งดีๆขึ้น “ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาป่วยเป็นอะไร ขับรถผ่านไปก็เห็นถูกล่ามโซ่ทุกที ขอบคุณปลัดนิและหมอมากๆที่ทำให้ผมเห็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐาน อีกด้านหนึ่งที่เราจะหลงลืมไม่ได้ ยังมีคนกลุ่มนี้ที่ต้องดูแลไม่ใช่เฉพาะตัวเขาเอง ญาติเราก็ต้องดูแล ขอบคุณจริงๆ”นี่คือคำพูดของนายกอบต.ลิปะสะโงหลังจากที่ได้ตระเวนไปจนทั่วทุกบ้านที่เป็นเป้าหมายของเรา สำหรับบทบาทนักจัดการสุขภาพแบบเรานี่เป็นก้าวแรกของเราในการอย่างก้าวเข้ามาในชีวิตของกลุ่มบุคคลเหล่านี้โดยนำเอาภาคีเครือข่ายมาบูรณาการงานเข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพและโครงสร้างพื้นฐานที่มีเจ้าภาพแตกต่างกันไปตามบทบาทและหน้าที่ นี่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง ก้าวอย่างต่อไปจะเป็นอย่างไร นิราชินีจะสามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นคือแรงบันดาลใจและภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในระบบจัดการสุขภาพแบบองค์รวมตามบริบทของพื้นที่ ขอบคุณนิราชินี ที่จุดประกายความฝันให้เกิดขึ้น หวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะคืนสู่สังคมรอบข้างได้อย่างมีความสุข อิสรภาพที่ขาดหายไปจากชีวิตจะคืนกลับมาถึงแม้ว่าจะแสนเลือนลางเต็มทีก็ตาม.

ผลงานประจำปี2556

๑. ชื่อผลงาน งานวิจัย/โครงการ/นวัตกรรม โครงการเสริมสร้างกำลังใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ๒. ที่มาและความสำคัญ ในสถานการณ์ยุคปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้มีความทันสมัยในทุกๆด้านเพื่อความทัดเทียมกับประเทศอื่นๆที่มีการแข่งขันกันในการที่พัฒนาและจากสภาพการณ์ดำเนินชีวิตในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้มีการดำเนินชีวิตที่มีความแตกต่างกัน ทุกครอบครัวต้องมีการดิ้นรนในการประกอบอาชีพเพื่อให้ทันตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ถูกผลักดันให้ทันตามความเจริญต่างๆ บางครั้งการต่อสู้เพื่อให้ทุกชีวิตในครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีจนในบางครั้งทำให้ไม่มีเวลาที่จะดูแลสมาชิกในครอบครัวทำให้เกิดช่องว่างระหว่างครอบครัวได้ และเมื่อสมาชิกในครอบครัวที่เป็นภาวะพึ่งพิงของครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการ การดูแลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดความโดดเดี่ยวและมีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคุณค่าแก่ครอบครัวส่งผลให้เกิดภาวะความเครียด ดังนั้นพื้นที่ตำบลลิปะสะโงได้เห็นความสำคัญของบุคคลเหล่านี้คือกลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล กลุ่มผู้พิการและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความสนใจที่จะดูแล เป็นการเสริมสร้างกำลังใจแก่กลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้สึกว่ายังมีคุณค่าในสังคมและเสริมสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป ๓. กระบวนการดำเนินงาน ขั้นเตรียมการ 1. ประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้กับคณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลลิปะสะโง เพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการ 2. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในเครือข่าย 3. สำรวจข้อมูล กลุ่มเป้าหมาย 4. จัดทำแผนปฏิบัติการ ขั้นดำเนินการ ดำเนินการเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายตามแผนจากทีมภาคีเครือข่าย ขั้นประเมินผลงานและกิจกรรม 1. สรุปผลการดำเนินการเยี่ยมและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละราย พร้อมกับวางแผนการดูแลต่อเฉพาะรายต่อไป 2. ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากข้อมูลการใช้บริการของประชาชนในพื้นที่และการตอบรับของชุมชน ๔. ผลการดำเนินงาน พบว่าจากการดำเนินการเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายจำนวน 46 ราย ประกอบด้วยผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จำเป็นต้องมีผู้ดูแล จำนวน 10 ราย ผู้พิการ จำนวน 24 ราย และผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะซ้อน จำนวน 13 ราย ( หมายเหตุผู้สูงอายุและผู้พิการซ้ำกัน 1 ราย ) จัดออกเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มของผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อนและผู้สูงอายุที่เป็นหน้าที่ของรพ.สต.ในการจัดการต่อไป ส่วนปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐานก็จะมีความจำเป็นและความต้องการแตกต่างกันไปในเรื่องที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มนี้จัดเป็นภาระของอปท.ที่ต้องดูแลต่อไป ในคุณภาพชีวิตและการศึกษาก็จัดอยู่ในส่วนที่ภาคีเครือข่ายคือ เกษตร กศน. พัฒนากรแลอื่นๆที่เกี่ยวข้องต้องมาระดมความคิดเพื่อการดูแลต่อไป ๕.ประโยชน์ที่ได้รับ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ในการดูแลร่วมกันโดยภาคีเครือข่ายร่วมกันคือ องค์การบริการหารส่วนตำบลลิปะสะโง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลิปะสะโง อสม. สมาชิกอบต. เกษตรประจำตำบล พัฒนากรประจำตำบล กศน.ประจำตำบลและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังรายละเอียด 1. ด้านสุขภาพ รับผิดชอบโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลิปะสะโง - จัดบริการด้านสุขภาพแก่กลุ่มผู้สูงอายุในการคัดกรองความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง/โรคเบาหวาน และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคแล้ว - กลุ่มผู้พิการและผู้ดูแล เฝ้าระวังโรคและอุบัติเหตุที่สามารถเกิดและเป็นอันตรายแก่ผู้พิการได้ คัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเครียดแก่ผู้ดูแล สนับสนุนให้ผู้พิการได้รับการดูและคำแนะนำในการกายภาพที่เหมาะสม - กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน จัดบริการด้านสุขภาพให้เหมาะสมโดยมีทีมอสม.และสมาชิกอบต.ในการติดตามอย่างต่อเนื่องโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นพี่เลี้ยง 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รับผิดชอบโดยองค์การบริหารส่วนตำบลลิปะสะโง - ให้ความช่วยเหลือในด้านโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมตามความจำเป็นและความเหมาะสมแต่ละราย 3. ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต รับผิดชอบโดย กศน. พัฒนากร เกษตรและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความสุขตามอัตภาพของแต่ละรายโดยมีทีมภาคีเครือข่ายชุมชนเป็นผู้ดำเนินการโดยมีภาคีเครือข่ายภาครัฐเป็นพี่เลี้ยง ๖.ข้อเสนอแนะ: ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ภาคีเครือข่ายและชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยตัวผู้นำชุมชน คือนายกอบต.มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีข้อมูลในการสนับสนุนให้ขับเคลื่อนโดยรพ.สต. มีการวิเคราะห์ชุมชนร่วมกัน ร่วมคิด ร่วมวางแผน และเห็นปัญหาร่วมกัน ทำให้ชุมชนมีความตระหนัก เกิดการทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนให้งานดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน นี่คือจุดเริ่มต้นของการมอบโอกาสให้แก่คนกลุ่มนี้ที่คิดว่าตนเองด้อยคุณค่า ให้มีพลังชีวิตต่อไป.

ข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง